Rachandam
สนทนาสมชิก
สมัครสมาชิก
เข้าสู่ระบบ
เกจิอาจารย์ / หลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ จ.ปทุมธานี
วิชาอาคม การสร้างวัตถุมงคล บทวิเคราะห์
สุดยอดพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษ
หลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ จังหวัดปทุมธานี พระเกจิอาจารย์ยุคเก่าผู้มีวิชาอาคมเข้มขลัง มีวิทยาการทางด้านไสยศาสตร์ชั้นสูง มีญาณสมาธิแก่กล้า วัตถุมงคลที่ท่านสร้างจึงทรงคุณค่าสูงยิ่ง ผู้เขียนจึงขอนำเอาเกียรติประวัติของท่านมาเผยแพร่ในเว็บไซด์แห่งนี้ และขอขอบพระคุณ คุณจีรัชพัฒน์ หม่อมงาม หรือ เปีย ปู่เทียน ที่ได้เอื้อเฟื้อภาพและข้อมูลต่าง ๆ มา ณ โอกาสนี้
สุวัฒน์ เหมอังกูร
1 ธันวาคม 2559
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอเริ่มต้นที่มูลเหตุจูงใจให้ผู้เขียนเข้ามาสนใจวัตถุมงคลของหลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ จังหวัดปทุมธานี พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
ในปี พ.ศ. 2524 คุณพ่อของผู้เขียนมอบพระสมเด็จให้ 1 องค์ เป็นพระสมเด็จพิมพ์ 9 ชั้น เนื้อหาจัดมาก โดยท่านบอกว่าเป็นพระสมเด็จวัดเกศ แต่จากการศึกษาเรื่องพระมาแล้วทั้งการอ่านจากหนังสือพระและพูดคุยกับนักเล่นพระ ก็ทราบว่าวัดเกศไม่มีพระสมเด็จพิมพ์นี้ เมื่อสอบถามใครก็ไม่มีใครทราบว่าเป็นพระสมเด็จที่ไหน เพียงแต่ทุกคนบอกว่า เนื้อจัดมากยังกับวัดระฆังเลย ผู้เขียนเห็นว่าเป็นพระแท้จึงไปสั่งทำตลับพุก ซึ่งเป็นตลับแสตนเลสที่คนนิยมที่สุดในสมัยนั้น
เมื่อนำมาใช้แล้วก็รู้ว่าเป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์มากในเรื่องเมตตามหานิยม รู้สึกได้อย่างชัดเจน รวมทั้งเรื่องการงานก็สุดยอด จึงใช้ติดตัวอยู่ตลอด ต่อมาตกแตก ผู้เขียนจึงนำไปซ่อมและเก็บไว้ จากนั้นมาจึงไม่ได้ติดตามหารายละเอียดอีก
จนกระทั่งในปี 2556 ผู้เขียนได้นำพระสมเด็จองค์นี้ให้พี่ทวีสุข ปัญญาอรรถ เซียนพระอาวุโสดูและถามถึงที่มา พี่ทวีสุขบอกว่าเป็นพระหลวงปู่เทียน เขาเองก็มีและนำมาให้ผู้เขียนดู แต่เมื่อผู้เขียนนำมาเปรียบเทียบกับองค์ของผู้เขียนแล้ว จะเห็นว่ามีขนาดเล็กกว่าองค์ของผู้เขียนค่อนข้างมาก ผู้เขียนจึงไม่ได้ขอบูชา แต่ต่อมาพี่ทวีสุขก็บอกว่าองค์ของผู้เขียนน่าจะเป็นพระสมเด็จกรุใต้ฐานหลวงพ่อโต วัดดอินทร บางขุนพรหม วัดที่ในอดีตหลวงปู่ภูเคยจำพรรษาอยู่ และพระสมเด็จกรุนี้หลวงปู่เทียนได้นำไปถอดพิมพ์สร้าสงพระสมเด็จของท่านช่วงปี พ.ศ. 2480-2490 และเรียกกันมาตั้งแต่สมัยนั้นว่า พระสมเด็จ 9 ชั้น วัดเกศ
พระสมเด็จองค์ที่คุณพ่อผู้เขียนให้มา
เปรียบเทียบกับองค์ที่สร้างโดยหลวงปู่เทียน
สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจเข้ามาศึกษาประวัติและวัตถุมงคลของหลวงปู่เทียนก็คือ ข้อมูลที่พี่ทวีสุขบอกกับผู้เขียนว่า หลวงปู่เทียนท่านสำเร็จการลบผง 12 นักษัตร ซึ่งวิชาการนี้ผู้เขียนไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่คำว่า 12 นักษัตร สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความสนใจขึ้นมาทันที ด้วยสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับวัตถุมงคลขององค์ท่านพ่อจตุคามรามเทพ
เมื่อได้ศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ของหลวงปู่ ทั้งด้านประวัติ วัตรปฏิบัติ และการสร้างวัตถุมงคลของท่าน ทำให้ทราบว่าท่านคือพระเกจิอาจารย์ที่มีวัตรปฏิบัติที่งดงาม มีญาณสมาธิชั้นสูง มีวิชาอาคมเข้มขลัง มีวิทยาการด้านการลบผงที่พิเศษ นั่นคือผง 12 นักษัตร ที่ยังไม่เคยมีพระเกจิอาจารย์องค์ใดทำมาก่อน ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงมีความมั่นใจว่า วัตถุมงคลของท่านต้องมีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์สูงอย่างแน่นอน และก็เป็นที่มาที่ทำให้ผู้เขียนต้องไปหาวัตถุมงคลของท่านมาใช้ ซึ่งไม่ทำให้ผิดหวัง
สำหรับประวัติของท่าน รายละเอียดและบทวิเคราะห์บางส่วน ทุกท่านสามารถติดตามได้ในบทความที่ลงในหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก เมื่อวันที่ 10 กรกฏาคม 2559 ซึ่งผู้เขียนนำมาลงไว้ในเรื่องนี้แล้ว
มาที่บทวิเคราะห์กันครับ
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า หลวงปู่เทียนคือพระเกจิชาวมอญ หลักเกณฑ์ของชาวมอญในการศึกษาวิชาอาคม คือต้องไปเรียนกับพระอาจารย์ที่เป็นชาวมอญเท่านั้น พระมอญจึงเป็นพระเกจิที่มีคาถาภาษามอญ นอกจากอักขระขอม จึงทำให้คาถาภาษามอญและยันต์มอญ สืบทอดต่อเนื่องมาอย่างไม่ขาดสาย
สิ่งที่ผู้เขียนอยากให้ทุกท่านพิจารณาคือ ต้นทางแห่งวิทยาการทางด้านวิชาอาคมของชาวมอญนั้น มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงมีพระเกจิอาจารย์ชาวมอญที่มีอภินิหารในด้านอิทธิฤทธิ์มากมายหลายองค์ ทั้งนี้ความสามารถในการทำให้วัตถุมงคลให้ศักดิ์สิทธิ์และมีอานุภาพสูงในด้านต่าง ๆ ไม่ใช่แค่มีอำนาจพลังจิตสูงอย่างเดียว แต่ต้องมีวิทยาการชั้นสูงให้ศึกษา หรือต้องเก่งมาก ๆ ถึงขั้นสร้างวิชาการชั้นสูงขึ้นมาเองได้
การที่พระเกจิอาจารย์ชาวมอญมีความเก่งกล้าสามารถ ท่านผู้อ่านคงไม่แปลกใจนะครับถ้าผู้เขียนจะบอกว่า เพราะต้นตำรับวิชาอาคมต่าง ๆ คือสมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว หรือพระนามเดิมคือ พระมหาเถรคันฉ่อง พระเถระที่พาชาวมอญอพยพตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เข้ามาพำนักในประเทศไทย
พระมหาเถรคันฉ่อง เป็นพระเถระชาวมอญที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านวิปัสสนาธุระ และคันถะธุระ จนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงแต่งตั้งสมณศักดิ์ให้เป็นพระราชาคณะถึงสมเด็จ และที่สำคัญคือท่านมีความสามารถในด้านวิชาอาคมสูงมาก ท่านได้สร้างวัตถุมงคลที่มีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ไว้จำนวนมาก รวมทั้งสร้างสรรค์ตำรับตำราไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา ที่โดดเด่นและกล่าวขานกันมากก็คือ ตำราการสร้างพระกริ่ง
การเดินทางเข้ามาของมหาเถรคันฉ่อง ต้องมีลูกศิษย์ลูกหาตามมาไม่น้อย และยังมีอพยพตามหลังมาเรื่อย ๆ ผู้ที่ไปบวชก็ต้องไปบวชกับท่าน เรียนวิชากับท่าน คัดลอกตำรับตำราของท่านไป ตลอดพระชนม์ชีพของท่านก็ต้องมีไม่น้อย และลูกศิษย์ก็จะไปถ่ายทอดต่อกระจาย
ออกไปเป็นร่างแห ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าองค์ใดจะรับได้ถึงระดับไหน ดังนั้นหลวงปู่เทียน ท่านก็เป็นพระเกจิอาจารย์องค์หนึ่งที่ได้รับวิชาอาคมต่าง ๆ มาจากต้นทางเดียวกันกับพระเกจิอาจารย์ชาวมอญองค์อื่น ๆ คือ จากสมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว
ก่อนเข้าเรื่องวัตถุมงคล ผู้เขียนขอวิเคราะห์อีกเรื่องหนึ่งครับ นั่นคือเรื่องของค่านิยมในวัตถุมงคลของท่านที่ปัจจุบันราคายังต่ำกว่าพระที่สร้างใหม่บางรุ่นของเกจิอาจารย์บางองค์ในยุคหลังจากท่าน ในช่วงแรกผู้เขียนเองก็สงสัยว่าเพราะเหตุใด แต่เมื่อเข้ามาสัมผัสรายละเอียดของสถานะการณ์ก็พอเข้าใจได้ว่ามีสาเหตุมาจากหลายประการ
ประการแรก ความไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการเก็บสะสมพระของท่าน มีการนำพระยุคหลังเข้ามาเหมาว่าเป็นพระของท่าน มีการสร้างขึ้นมาใหม่และเสียบเข้ามา เมื่อมีการซื้อขายกันออกไปว่าเป็นพระแท้ เป็นพระที่ทันท่าน พอมีปัญหาก็ต้องยืนยันว่าแท้แบบหัวชนฝา บางครั้งคนที่ได้พระมาไปถามเซียนคนหนึ่งบอกแท้ อีกคนบอกเก๊ ทำให้เกิดความสับสนอันเป็นสาเหตุที่คนไม่กล้าเข้ามาเล่น เมื่อผู้เขียนเข้ามาสนใจใหม่ ๆ มีเซียนพระท่านหนึ่งถามว่า พี่จะเข้าไปเล่นทำไมพระของหลวงปู่เทียนมีเก๊มากกว่าแท้ ผู้เขียนได้ตอบท่านไปว่า ถ้าอย่างนั้นคงต้องเลิกเล่นพระทุกอย่าง เพราะพระที่พอมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักก็จะมีเก๊มากมาย ยิ่งพระที่มีชื่อเสียงมากยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลยครับ ของเก๊มีอย่างมหาศาล ดูพระสมเด็จเป็นตัวอย่างนั่นแหละของเก๊มีมากขนาดนับกันไม่ถูกเลย
ประการที่สอง ชาวบ้านในท้องถิ่นไม่ค่อยได้นำไปใช้เนื่องจากเสียดายพระของท่าน เพราะในสมัยท่านมีชีวิตอยู่ชาวบัานเคารพศรัทธาท่านมาก จึงพากันหวงแหนและวัตถุมงคลของท่านก็สร้างครั้งละไม่มากมายนัก ในการเก็บไว้บูชาภายในบ้านก็ยังเป็นสาเหตุให้เกิดการศูนย์หายจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ ๆ หลายครั้ง ยิ่งทำให้ของลดน้อยลง การไม่นำไปใช้จึงทำให้ไม่ค่อยมีประสบการณ์ไปเล่าขานมากนัก แต่จะว่าไปแล้วก็มีประสบการณ์เล่ากันไม่น้อยเหมือนกัน เพียงแต่เป็นเรื่องของชาวบ้าน วงการภายนอกไม่รู้จึงไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์
ประการที่สาม เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงในยุคหลัง ๆ นี้ คตินิยมในการเล่นพระก็จะเล่นกันตามกระแส ไม่ได้ศึกษาถึงข้อมูลที่ลึกซึ้งถึงที่มาแห่งวัตถุมงคลนั้น ๆ วัตถุมงคลของหลวง
ปู่เทียนซึ่งสร้างอย่างพิถีพิถันและมีความศักดิ์สิทธิ์ กลับถูกมองข้ามจนกระทั่งมีราคาถูกกว่าวัตถุมงคลที่สร้างอย่างไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมากจากโรงงาน
ประการที่สี่ การต่างคนต่างเล่นของคนในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้แต่ฟังต่อ ๆ กันมา โดยไม่ได้สืบค้นข้อมูลและหาพยานหลักฐานจากต้นตอมาสนับสนุน ไม่ได้วิเคราะห์กลั่นกรองเพื่อหาจุดเชื่อมโยง ข้อมูลต่าง ๆ จึงไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อได้ฟังมาจากคนละสายก็เลยไปคนละทิศละทาง ประกอบกับเรื่องผลประโยชน์ความไม่รับผิดชอบและการไม่เปิดใจรับข้อมูลที่มีหลักฐานยืนยัน จึงทำให้เกิดความสับสนกับผู้เก็บสะสมและผู้ี่สนใจจะเข้ามาศึกษา แต่เรื่องนี้คงไม่สร้างปมปัญหามากนักในอนาคต เพราะเมื่อมีคนเข้ามาสนใจมาก ๆ สถานะการณ์จะเป็นตัวกำหนดหลักเกณฑ์เอง
สาเหตุทั้ง 4 ข้อนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนเอง ซึ่งผู้เขียนพิจารณาจากอดีตที่ผ่านมา ต่อไปก็คงจะค่อย ๆ คลี่คลายไปเอง เพราะเริ่มมีคนเข้ามาสนใจมากขึ้นและราคาวัตถุมงคลของท่านก็ขยับขึ้น ทำให้มีการแสวงหาข้อมูลเพื่อศึกษารายละเอียด ทำให้การเล่นมีหลักเกณฑ์มากขึ้น ต่อไปการเก็บสะสมวัตถุมงคลของท่านก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเพียงแค่ตั้งหลักและกำหนดขอบเขตให้แน่นอน
ในส่วนของประวัติส่วนตัวท่านและรายละเอียดเกี่ยวกับความสามารถในด้านต่าง ๆ กรุณาติดตามได้ในบทความที่ลงในหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ที่ได้นำมาลงไว้ในคอลัมน์ถัดไปเรื่องหลวงปู่เทียน
วัตถุมงคล
วัตถุมงคลที่จะนำเสนอนี้ ผู้เขียนขอเรียนว่าจะเน้นไปที่พระเนื้อผงและเนื้อโลหะบางส่วน ในส่วนที่เป็นเครื่องรางของขลังคงต้องข้ามไปก่อน เนื่องจากผู้เขียนยังไม่ได้ศึกษาและไม่เคยเห็นของจริง ต่อไปถ้ามีข้อมูลที่แน่นอนก็จะนำมาเพิ่มเติม
ชุดเนื้อผง
ผู้เขียนขอเน้นย้ำนะครับว่าพระเนื้อผงของหลวงปู่เทียนนั้นมีกรรมวิธีการสร้างที่ยึดถือหลังเกณฑ์อย่างเคร่งครัดตามแบบอย่างของครูอาจารย์ยุคเก่าที่ผ่านการศึกษามาอย่างดีแล้ว ประกอบกับหลวงปู่เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีความสามารถในด้านพลังจิตระดับสูง มีความสามารถความชำนาญในการลบผงวิเศษ 5 ประการ และที่สำคัญคือมีวิทยาการชั้นสูงที่ไม่มีใครมี นั่นคือการลบผง 12 นักษัตร และพระเนื้อผงของท่านที่สร้างทุกครั้งจะต้องมีผงทั้ง 2 อย่างนี้ผสมลงไปด้วย พระผงของท่านจึงเป็นวัตถุมงคลที่มีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ไม่เป็นสองรองใคร ผู้เขียนได้นำมาใช้แล้วพูดได้คำเดียวว่า สุดยอด
ในส่วนของพระเนื้อผงจะเป็นวัตถุมงคลที่มีปัญหามากที่สุดของหลวงปู่ เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการทำปลอมมากที่สุด ประกอบกับมีการนำพระที่ทำในภายหลังแต่นำมากล่าวอ้างว่าทันหลวงปู่ นอกจากนี้ยังมีการนำวัตถุมงคลของพระเกจิอาจารย์อื่น ๆ ในยุคหลังเข้่ามาเป็นของหลวงปู่ ปรากฏการณ์เหล่านี้จึงทำให้เกิดความสับสน ผู้เขียนจึงอยากเสนอต่อผู้ที่สนจะเข้ามาเก็บสะสมใหม่ ๆ ว่า ต้องพิจารณา 3 องค์ประกอบควบคู่กันไปคือ 1. เนื้อหาขององค์พระ 2. พิมพ์ทรง 3. ข้อมูลรายละเอียดที่มีหลักฐานทั้งจากบันทึก และจากบุคคลที่รู้เห็นซึ่งยังอยู่ทันเล่าเรื่องหรือบอกต่อมายังลูกหลาน จากนั้นจึงกำหนดขอบเขตในการเสาะแสวงหาได้อย่างชัดเจน
สำหรับพระเนื้อผงผู้เขียนขอแบ่งตามลักษณะพิมพ์เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. พิมพ์สมเด็จ
2. พิมพ์ปิดตา
3. พิมพ์อื่น ๆ
1. พิมพ์สมเด็จ
พระสมเด็จเป็นพระที่โด่งดังมาตั้งแต่สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ทำแจกชาวบ้านในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่าน และเล่าขานสืบต่อกันมาจนกระทั่งถูกจัดให้เป็นจักรพรรดิ์พระเครื่องในยุคปัจจุบัน
ในช่วงเวลาที่หลวงปู่เทียนท่านเล่าเรียนวิชาอาคาจนแก่กล้า รวมทั้งสำเร็จวิชาลบผงวิเศษ 5 ประการและผง 12 นักษัตร ท่านจึงคิดที่จะสร้างพระสมเด็จขึ้นมาบ้างตามเรื่องเล่าในบทความของคุณเทพชู ทับทอง เพราะฉะนั้นพระสมเด็จจึงเริ่มสร้างมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ แต่ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าพระที่ท่านสร้างครั้งแรกคือพระพิมพ์สมเด็จ แต่เข้าใจว่าน่าจะมีพระพิมพ์อื่น ๆ มาก่อน ซึ่งจะกล่าวถึงในช่วงพระพิมพ์อื่น ๆ
สำหรับพระสมเด็จที่ท่านสร้างครั้งแรกต้องเป็นพระที่ถอดพิมพ์มาจากพระสมเด็จกรุวัดอินทร์ บางขุนพรหม สาเหตุที่ต้องถอดพิมพ์เนื่องมาจากยังไม่มีลูกศิษย์ที่แกะแม่พิมพิ์ได้ จึงใช้วิธีนำพระไปกดที่ดินเหนียว แล้วนำดินนั้นไปเผา ทำให้พิมพ์หดเล็กลงค่อนข้างมาก และแม่พิมพิ์ดังกล่าวก็ไม่มั่นคงแข็งแรงนัก จึงต้องกดเพื่อทำพิมพ์หลายครั้ง
สำหรับพระพิมพ์สมเด็จ ผู้เขียนจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ก่อนและหลัง พ.ศ. 2500
ก่อน พ.ศ. 2500
พระสมเด็จที่สร้างก่อน พ. ศ. 2500 ผู้เขึยนขอจัดให้เป็นพระสมเด็จยุคต้น เพราะมีหลายพิมพ์ที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นพระที่สร้างใน พ.ศ. อะไร มีเพียง 2 รุ่นเท่านั้นที่ทราบ พ.ศ.ที่สร้าง เพราะฉะนั้นหลายพิมพ์จึงต้องใช้การบอกว่าเป็นพระยุคต้น ตามที่ลูกศิษย์ของท่านบอกกล่าวไว้
สมเด็จพิมพ์บายศรี
สมเด็จ 9 ชั้นวัดเกศ
สมเด็จ 7 ชั้นอกวี
3. สมเด็จพิมพ์นักกล้าม
4. สมเด็จพิมพ์ตั่ง 3 ชั้น
สมเด็จยุคปี พ.ศ. 2490
หลัง พ.ศ. 2500
สมเด็จปี พ.ศ. 2503
พิมพ์ใหญ่
พิมพ์กลาง
พิมพ์เล็ก ( คะแนน )
พระสมเด็จยันต์ข้าง ฤ ฤๅ
สมเด็จพิมพ์นี้ ตามข้อมูลบอกว่าอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2503-2504 ยันต์ข้างที่แกะ เป็นการแกะกลับหลัง
สมเด็จปี พ.ศ. 2506
พระสมเด็จ 3 ชั้น หลังรูปเหมือน
สมเด็จ 9 ชั้นหลังเหรียญ
สมเด็จ 3 ชั้นหลังเหรียญ
สมเด็จ 3 ชั้น
สมเด็จคะแนนจิ๋ว
สมเด็จปี พ.ศ. 2507
พระสมเด็จเกศบัวตูม
สมเด็จหลังยันต์บวรธรรมกิจ
พระสมเด็จคะแนน
สมเด็จปี พ.ศ. 2508
สมเด็จหลังธรรมาสน์
สมเด็จ 3 ชั้นหลังรูปเหมือน
สมเด็จ 3 ชั้น
สมเด็จปี พ.ศ. 2509
สมเด็จพิมพ์ใหญ่ขนาดบูชา
สมเด็จหลังลายเซ็น
สมเด็จคะแนน
พระสมเด็จหลวงปู่เทียนที่สร้างโดยวัดอื่น ๆ
1.
พระสมเด็จหลวงปู่เทียน ปี 2508 ออกที่วัดแจ้ง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
ผู้เขียนขอแนะนำวัตถุมงคลของหลวงปู่เทียน ที่น่าใช้เป็นอย่างยิ่งเพราะมีประสบการณ์และมีพลังทางด้านความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ยอมรับของผู้มีสมาธิจิตชั้นสูง ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ราคายังไม่แพง พระรุ่นนี้คือพระสมเด็จวัดแจ้ง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
ที่มาของพระรุ่นนี้ เกิดจากการที่หลวงปู่เทียนท่านจะทำพิธีปลุกเสกเหรียญรูปเหมือนของท่านพิมพ์รูปไข่ ที่ พล.ต.ต.เนื่อง อาขุบุตร สร้างถวายในวันเสาร์ 5 ปี 2508 ท่านอนุญาตให้ลูกศิษย์ใกล้ชิดทำวัตถุมงคลในนามของท่านมาเข้าพิธีได้ พระอาจารย์จิ๊ว เจ้าอาวาสวัดแจ้งซึ่งมีความใกล้ชิดกับหลวงปู่มากเรียกว่าเป็นลูกศิษย์มือขวาเลยก็ได้ และเป็นผู้ร่วมเดินทางไปในพิธีอุปสมบทของลูกหลานชาวบ้านเป็นประจำ เพราะหลวงปูเทียนท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์จิ๊ว เป็นพระคู่สวด ภายหลังท่านได้สมณศักดิ์ที่พระครูอรรถสุนทร และมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลสามโคก
เมื่อเห็นเป็นโอกาสดีเช่นนี้ พระอาจารย์จิ๊ว จึงขอผงอิทธิเจ และผง 12 นักษัตร รวมทั้งตะกรุดจากหลวงปู่เทียนมาใช้ในการทำพระผงรุ่นนี้ โดยพระอาจารย์จิ๊วแกะแม่พิมพ์เองทั้งหมด เพราะท่านเป็นช่างที่มีฝีมือในการแกะสลัก ใบระกาที่ใช้ติดพระอุโบสถในวัดแจ้ง ท่าน
เป็นผู้แกะสลักทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ พระสมเด็จที่สร้างจึงมีหลายพิมพ์ เพราะต้องการทำให้ได้จำนวนที่มากพอ เพื่อให้ทันเวลาปลุกเสก และบางพิมพ์ที่แกะมาแล้วไม่ถูกใจ พอพิมพ์ไปได้เล็กน้อยก็ยกเลิกและแกะเพิ่ม พิมพ์ที่หมุนเวียนทั้งหมดแบ่งตามขนาดได้เป็น 4 ขนาดคือ
พิมพ์จัมโบ้ มี 5 พิมพ์
พิมพ์แขนหักศอกใหญ่
พิมพ์แขนหักศอกเล็ก
พิมพ์แขนกลม
พิมพ์แขนตรง
พิมพ์ก้างปลา ( มีเพียงไม่กี่องค์ เนื่องจากเป็นพิมพ์ที่ไม่สวย จึงมีแค่พระตัวอย่าง )
พิมพ์สมเด็จทั่วไป มี 3 พิมพ์
พิมพ์ใหญ่ มี 2 บล็อก
พิมพ์เล็ก
( มีจำนวนค่อนข้างน้อย )
พิมพ์คะแนน มี 2 บล็อก
พิมพ์พิเศษแจกกรรมการ มีขนาดใหญ่มากคือ กว้าง 7.0 ซม. สูง 9.7 ซม.
พิมพ์นี้สร้างจำนวนน้อย ประมาณ
50 องค์
พระบางส่วนจำนวนไม่มากนักมีการบรรจุตะกรุดที่หลวงปู่ท่านจารให้มีทั้งแบบบรรจุ 1 ดอก 2 ดอก และ 3 ดอก
จำนวนการสร้าง
พิมพ์จัมโบ้และพิมพ์สมเด็จทั่วไป รวมกันประมาณ 3,000 องค์
พิมพ์คะแนน ประมาณ 2,000 องค์
พระทั้งหมด นำเข้าปลุกเสกในพิธีเสาร์ 5 พ.ศ.2508 ในพระอุโบสถวัดโบสถ์พร้อมกับเหรียญ โดยหลวงปู่เทียนปลุกเสกเดี่ยว เป็นเวลา 1 คืน พระรุ่นนี้พระอาจารย์จิ๊วมีความหวงแหนมากจะแจกให้กับพวกลูกศิษย์และชาวบ้านในท้องถิ่นเท่านั้นและไม่เปิดให้บูชา จากนั้นเก็บใส่ลังไม้ล็อกกุญแจอย่างดี จนกระทั่งในช่วงเวลาก่อนที่พระอาจารย์จิ๊วจะมรณภาพในปี 2539 ท่านอาพาธหนัก ท่านเจ้าคุณเลิศหรือพระธรรมศิริชัย เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามซึ่งเป็นหลานแท้ๆ ของหลวงปู่เทียนและมีความสนิทสนมกับพระอาจารย์จิ๊ว ได้มานำเอาพระสมเด็จพิมพ์จัมโบ้ประมาณ 400-500 องค์ ไปออกให้ลูกศิษย์บูชาที่วัดอรุณ ฯ แล้วนำปัจจัยมามอบให้พระอาจารย์จิ๊วเพื่อใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล
ภายหลังจากที่พระอาจารย์จิ๊วมรณภาพ พระชุดนี้ก็ถูกนำออกมาแจกจ่ายกันในหมู่ลูกศิษย์และหลายครั้งที่มีการนำไปแจกในงานฌาปณกิจศพชาวบ้าน โดยไม่ได้บอกรายละเอียดที่มาของพระ ผู้ที่รับไปจึงไม่ได้สนใจทำให้เมื่อพระกระจายออกไปจึงไม่มีใครรู้จัก เมื่อพบเห็นก็ไม่สนใจโดยหารู้ไม่ว่า นี่คือสุดยอดพระสมเด็จอีกรุ่นหนึ่งของหลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ที่มีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ไม่เป็นสองรองใคร
จากการที่พระอาจารย์จิ๊วเก็บพระไว้เป็นอย่างดี ทำให้พระที่ออกมาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์สวยงามเพราะไม่มีการสัมผัส จึงดูเหมือนใหม่ แต่ความแห้งและเนื้อหาเป็นตัวบ่งบอกว่ามีธรรมชาติและอายุความเก่าได้เป็นอย่างดี
ถึงแม้ว่าพระชุดนี้ จะไม่ได้ออกที่วัดโบสถ์ แต่ก็มีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับพระที่ออกในนามวัดโบสถ์ เพราะผงที่นำมาผสม รวมทั้งตะกรุดที่นำมาใส่ก็เป็นของที่หลวงปู่เทียนท่านทำให้ และยังปลุกเสกเดี่ยวพร้อมกับพระของวัดโบสถ์
ภายหลังจากที่ทำพระเสร็จแล้วพระอาจารย์จิ๊วยังได้เก็บผงของหลวงปู่เทียนกับตะกรุดที่เหลือไว้เป็นอย่างดี แต่หลังจากที่ท่านมรณะภาพของทั้งสองอย่างก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย ลูกศิษย์ต่างก็พากันถาหากันอยู่ไปมา
มีข้อมูลพิเศษที่ผู้เขียนขอเพิ่มเติมคือ
ภายหลังจากที่หลวงปู่เทียนท่านมรณภาพ 2 ปี คือ ปี พ.ศ. 2511 ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพของท่าน ทางพระอาจารย์จิ๊วได้รับพระอัฐิของหลวงปู่เทียนมาจำนวนหนึ่ง ท่านจึงนำมาบดพร้อมกับจีวรของหลวงปู่ บดจนละเอียดมากจนเป็นฝุ่นและนำมาผสมกับผงของหลวงปู่ พิมพ์พระขึ้นมาจำนวนหนึ่ง โดยใช้แม่พิพพ์จัมโบ้พิมพ์แขนหักศอกใหญ่ จำนวนที่สร้างก็คือ หลักสิบองค์ เป็นพระที่มีเนื้อหาแตกต่างจากรุ่นแรกคือเป็นเนื้อที่ละเอียดมากและมีลักษณะใสเหมือนเนื้อพระที่เรานิยมเรียกกันว่าเนื้อเกสร ทำให้แบ่งแยกออกจากรุ่นแรกได้อย่างชัดเจน และต้องถือว่าเป็นพระที่มีชนวนมวลสารที่สุดยอด มีความหมายถึงตัวหลวงปู่เทียนอย่างชัดเจน
2.
พระ
สมเด็จวัดมะขาม
เป็นพระที่หลวงปู่เทียนอนุญาตให้สร้าง พระสมเด็จวัดมะขามนอกจากจะมีผงวิเศษของหลวงปู่เทียนแล้ว ยังมีผงแตกหักของพระสมเด็จบางขุนพรหมหรือกรุวัดใหม่อมตรสผสมลงไปจำนวนมาก เนื่องจากมีหลวงตาที่วัดมะขามเป็นสหธรรมิกกับเจ้าอาวาสวัดใหม่อมตรส จึงได้พระสมเด็จแตกหักมา 1 กระสอบ (ที่บอกเล่ากันว่า 1 กระสอบ ผู้เขียนคิดว่าคงเป็นขนาดถุงปุ๋ยใหญ่ ๆ มากกว่า ) พระสมเด็จชุดนี้ได้เข้าพิธีปลุกเสกพร้อมเหรียญรูปไข่ที่สร้างโดย พลตำรวจตรีเนื่อง อาขุบุตร ในวันเสาร์ห้า เมื่อปี 2508
พระปิดตา
พระปิดตาเนื้อผงของหลวงปู่เทียนก็เป็นพระอีกแบบหนึ่งที่มีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะเมื่อเวลาผ่านมาก็เกิดมีพิมพ์เพิ่มขึ้นมาจากเดิมอีกหลายพิมพ์ สำหรับผู้เขียนเองขอยึดถือเอาพิมพ์มาตรฐานเป็นหลัก ดังนี้
พระปิดตายุคต้น
พิมพ์เม็ดกะบก
พระพิมพ์นี้มีขนาดเล็กมาก เล็กขนาดที่เขาเรียกกันว่าพระตกหาย นอกจากจำนวนสร้างน้อยมากแล้วยังสูญหายง่าย เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าจึงทำให้พบเห็นได้ยาก นอกจากนี้พิมพ์ยังคล้ายพระปิดตาท่านอาจารย์เปิง วัดชินวราราม บางครั้งจึงมีการนำไปขายเป็นพระปิดตาของอาจารย์เปิงด้วย
พระปิดตานกกระจิบ
เป็นพระปิดตาลอยองค์เนื้อผง สร้างขึ้นเมื่อปิ 2506 จำนวน 500 องค์ ทุกองค์ฝังตะกรุดสาริกา 1 คู่ที่ใต้ฐาน ตามมาตรฐานที่เล่นหากันมาแต่เดิมมี 3 ลักษณะ คือ
แบบขัดสมาธิราบ
แบ่งออกเป็นหลายพิมพ์
พิมพ์ที่ 1
พิมพ์ที่ 2
พิมพ์ที่ 3
แบบขัดสมาธิเพชร
แบบขัดสมาธิเพชรมือไขว้
พระปิดตาพิมพ์ครึ่งซีก
พระปิดตา 2 องค์นี้เป็นพระที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2509 เนื่องจากด้านหลังประทับด้วยตัวอักษรตัวเดียวกับที่ประทับบนตะกรุดตะกั่วที่สร้างขี้นในพิธีโพธิ์กาศใน ปี พ.ศ. 2509 โดยองค์เนื้อผงขาวประทับคำว่า วัดโบสถ์ องค์เนื้อว่านสบู่เลือดประทับคำว่า หลวงปู่เทียน ซึ่งทั้งสองคำนี้อยู่บนตะกรุดทั้งคู่
พระเนื้อผงพิมพ์อื่น ๆ
พระเนื้อผงพิมพ์นอกเหนือจากพิมพ์สมเด็จและพิมพ์ปิดตา ส่วนใหญ่จะเป็นพระที่ถอดพิมพ์มาจากพระกรุต่าง ๆ บางพิมพ์ทำในยุคแรกก่อนพระสมเด็จก็มี เช่น พระขุนแผนไข่ผ่าซีก
พิมพ์ขุนแผนไข่ผ่าซีก
พระขุนแผนองค์นี้เป็นพระที่สร้างในยุคเริ่มต้นของการสร้างพระเนื้อผงของหลวงปู่
พิมพ์ขุนแผนห้าเหลี่ยมสามปุ่ม
องค์นี้อยู่ในช่วงยุคกลาง ๆ สร้างโดยการแกะพิมพ์ขึ้นมาใหม่
พิมพ์ขุนแผนทรงพล
องค์นี้สร้างในปี พ.ศ. 2506 เพราะมีการฝังตะกรุดสาริกาคู่ซึ่งเริ่มมีการฝังในปี พ.ศ. 2506 ส่วนการฝังตะกรุดเดี่ยวจะมีการฝังมาบ้างในช่วงก่อนและไม่ใช่ตะกรุดสาริกา
พระพิมพ์นางพญาแบบต่าง ๆ
องค์นี้เป็นพิมพ์ข้างเม็ดที่แกะพิมพ์ขึ้นใหม่ มีทั้งฝังตะกรุดสาริกาคู่และไม่ฝัง
พิมพ์นางพิมพา สร้างน้อย หายากมาก
พระพิมพ์ต่าง ๆ
พิมพ์กำแพงหย่อง
พิมพ์ลีลา
พิมพ์นางกวัก
พิมพ์พระผงสุพรรณ
พิมพ์สังกัจจายน์
พิมพ์โคนสมอ สร้างองค์เดียว
เหรียญ
เหรียญปี พ.ศ. 2490 ออกวัดบ่อเงิน (รุ่นแรก)
เหรียญปี พ.ศ. 2491
เหรียญปี พ.ศ. 2506
พิมพ์เส้นเต็ม
พิมพ์เส้นขาด
เหรียญปี พ.ศ. 2508
เหรียญที่ระลึกหล่อพระประธานวัดบางแพรกใต้
เหรียญเจ้าคุณเลิศ วัดอรุณราชวรารามสร้าง
เหรียญปี พ.ศ. 2509
สร้างโดย พล.ต.ต. เนื่อง อาขุบุตร
พระรูปหล่อหลวงปู่เทียน
รูปหล่อรุ่นแรก พ.ศ. 2506
รูปหล่อรุ่นนี้จะมีการอุดผงวิเศษ 5 ประการและผง 12 นักษัตร ของหลวงปู่ สร้างโดย พันเอกทนงศักดิ์ ดุลยกนิษฐ์ ซึ่งเป็นหลานของหลวงปู่ มี 2 พิมพ์ คือพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก จำนวนรวม 500 องค์
พิมพ์เล็ก
พิมพ์ใหญ่
องค์นี้ลูกศิษย์ทำเป็นพิเศษโดยอุดผงและสอดตะกรุดทองคำของหลวงปู่ด้วย
รูปหล่อรุ่นสอง ปี พ.ศ. 2508
พระรูปหล่อรุ่นนี้สร้างขึ้นเพื่อหาเงินสร้างถนนเข้าวัดบ่อเงิน แต่สร้างจำนวนน้อยมาก การปั้นหุ่นสวยงามทำได้อารมณ์คลาสสิกสื่อถึงองค์หลวงปู่เทียน แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นจนได้ นั่นคือมีเซียนกลุ่มหนึ่งบอกว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2490 แต่ชาวบ้านแถววัดบอกว่าสร้างปี พ.ศ. 2508 ที่สำคัญคือหนังสือจากทางวัดเองก็บอกว่า ปี พ.ศ. 2508 ก็คงต้องใช้วิจารณญาณว่าจะเชื่อใครดี ผู้เขียนขออนุญาตนำหนังสือประวัติวัดบ่อเงิน ที่คุณเปีย ปู่เทียน ลงใว้ในทำเนียบพระเครื่องหลวงปู่เทียนมาเผยแพร่ต่อนะครับ
พระบูชาหลวงปู่เทียนแบบต่างๆ
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
เมื่อเด็กวัดมานับถือองค์พ่อจตุคามรามเทพ
9/11/2559 19:20:17
แบบทดสอบที่ต้องผ่านให้ได้
9/11/2559 19:30:37
ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรทะเลใต้ ตอนที่ 6-10
6/11/2559 0:15:56
ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรทะเลใต้ ตอนที่ 26-28
6/11/2559 20:19:12
เรื่องมีดและดาบทั่วไป
4/12/2559 14:25:03
Top